COLUMNIST

ได้เวลาคนไทยนับถอยหลัง "โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด-นิวเคลียร์"
POSTED ON -


ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชาชนมีความโชคดีมีไฟฟ้าใช้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าเท่าที่ควร เมืองไทยยังไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องสลับเวลากันใช้ไฟฟ้าคนละครึ่งวัน ยังไม่เข้าใจความรู้สึกนั้น เนื่องจากเรามีการวางแผนล่วงหน้าที่ดี หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

 

แต่ขอเตือนว่าวันนี้ควรจะได้เวลาที่คนไทยต้องนับถอยหลังว่า จะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในอนาคตของพวกเราเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึง 70% ในขณะที่อัตราเฉลี่ยการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าของโลกมีเพียง 20% เท่านั้น

 

ปัจจุบัน หากมีการหยิบยกเรื่องของโรงไฟฟ้าขึ้นมา คนไทยจะเริ่มแบ่งฝ่ายแบบอัตโนมัติ มีฝ่ายหนึ่ง GO อีกฝ่ายหนึ่ง NO และพร้อมขึ้นเวทีแบบมวยคาดเชือก เป้าหมายเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ซึ่งนี่คือเรื่องของทุกข์สุขของคนไทยทั่วประเทศ ถ้าจะ GO หรือ NO คงไม่ใช่ด้วยอำนาจพิเศษใดๆ แต่ต้องคนไทยตัดสินใจกันเอง และสัญญาณในการนับถอยหลังได้เริ่มแล้ว

 

อีกหนึ่งความพยายามอย่างแสนสาหัสของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าฯ ได้เริ่มโยนหินถามทางด้วยการนำตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาการศึกษา คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมี "มิสเตอร์ถ่านหินสะอาด" และ "มิสนิวเคลียร์" คอยให้ความรู้ตลอดเส้นทาง จนผู้ร่วมเดินทางเห็นปลาดิบหน้าตาเหมือนถ่านหิน และกลับมาคงจะกลัวรังสีจากเครื่องเอ็กซ์เรย์กว่ากัมมันตรังสีจากนิวเคลียร์เป็นแน่

 

บทความนี้เรามาเรียนรู้เรื่องของถ่านหินสะอาดและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าปลอดภัยหรืออันตรายอย่างไรกันดีกว่า

 

หากท่านลองศึกษาภาพตารางข้อมูล World Power Capacity by Source ท่านจะมีความรู้เบื้องต้นเพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวปฏิรูปพลังงานได้ทันที อยู่ที่ว่าจะสนับสนุนกลุ่มไหน เพื่อจะหาชื่อเสียงใส่ตัว หรือเพื่อปกป้องพลังงานไทยก็ได้

 

 

สำหรับ World Electricity Generation ท่านควรสังเกตข้อมูลให้ดี ในปี ค.ศ.2011 โลกผลิตพลังงานทดแทนใช้ได้ 20% ในขณะที่ไทยไปไม่ถึง 5% สำหรับภาพอนาคตใน ปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) พลังงานเฉลี่ยของโลกเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 28% ในปริมาณนี้เป็นพลังงานน้ำจากเขื่อนกว่าครึ่ง คือ 54% แสดงถึงศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของโลกยังไม่เพียงพอ อ่านถึงตรงนี้ ท่านคงจะถึงบางอ้อแล้วว่า ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของไทยดิ้นรนกันไปทำไม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแน่ เนื่องจากแต่ละโครงการต้องใช้เวลายาวนานหลายปี ไม่ใช่คิดวันนี้แล้วปีหน้าจะได้มา

 

เรามาเรียนรู้โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบื้องต้นเพื่อให้สามารถสื่อสารหรือพอเข้าใจ เมื่อฝ่าย GO กับฝ่าย NO เขาปะทะคารมกัน คนดูจะได้รู้สึกอินและสนุกไปด้วย แต่คงไม่เหมือนเชียร์มวยหรือเชียร์ไก่ชน เนื่องจากเดิมพันคือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด แค่ชื่อเรียกก็สร้างความสับสนในความหมายแล้ว คำถามก็คือ ถ่านหินสะอาดหรือความปลอดภัยจากมลพิษในอากาศจริงหรือ? ปัจจุบันถ่านหินที่ขายกันอยู่ในตลาดโลกเชิงพาณิชย์มี 5 ชนิด เรียงตามคุณภาพสูงไปสู่คุณภาพต่ำ ดังนี้ (1) แอนทราไซต์ (2) บิทูมินัส (3) ซับบิทูมินัส (4) ลิกไนท์ และ (5) พีท สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้ากระบี่จะใช้ซับบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพค่อนข้างสูง โดยยอมลงทุนระบบดักจับสารเจือปนในอากาศทั้ง So2, No2 และฝุ่นละอองแบบดีที่สุด จนคาดว่า ค่า Emission ในอากาศที่ปลดปล่อยจะปลอดภัยกว่ามาตรฐานสากลถึง 3 เท่า คือ So2 ค่ามาตรฐานไม่เกิน 180 PPMVd จะเหลือเพียง 50 PPMVd (Parts per million by volume, dry) ส่วน No2 มาตรฐานไม่เกิน 200 PPMVd จะให้เหลือเพียง 70 PPMVd ส่วนฝุ่นละอองให้เหลือเพียง 30 mg/Nm3 จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 80 mg/Nm3 ซึ่งการลด Emission แบบโปรโมชั่นนี้ ทำให้ต้นทุนเพิ่มกว่า 20% ถือว่าเป็น Cost of Quality ก็แล้วกัน

 

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังมีแผนจะใช้ชีวมวลร่วมกับถ่านหินสะอาดเพื่อลด Emission ลงอีก เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อให้เป็นโครงการแบบ Win-Win และ Win-Win นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะได้นอนค้างกระบี่คนละเดือนสองเดือนเหมือนเดิม หากทำได้ตามที่บอกกล่าว (คำว่า "ถ่านหินสะอาด" หมายถึง อากาศสะอาด ปลอดภัยจากมลพิษ ส่วนถ่านหินก็ต้องระมัดระวังอย่าให้ปลอมปนเกรดต่ำ และดูแลด้านความสะอาด อย่าให้ฝุ่นผงระหว่างขนย้ายเผื่อแผ่ชาวกระบี่รอบๆ โรงไฟฟ้าก็แล้วกัน)

 

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ บทความนี้คงจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะนำเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูงมาเล่าให้ฟัง จึงขอเกริ่นนำเพียงว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นอย่างที่เราๆ ท่านๆ คนเดินดินทั่วไปเข้าใจ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังจะมีตั้งแต่ขนาด Baby, Mini, Medium และขนาดใหญ่ 1,000 MW ที่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมากๆ และรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในกรณีร้ายสุดหากปล่อยให้มีการกระจายแบบไม่ควบคุมก็จะมีเพียง 2-3% ของระเบิดนิวเคลียร์เท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปจนถึงระดับที่เรียกว่าน่าจะสบายใจได้ทีเดียว

 

เรามาเริ่มเรียนรู้ศัพท์วิชาการเพื่อรู้ทันนิวเคลียร์กันดีกว่า สำหรับหน่วยวัดปริมาณรังสี เราเรียกว่า "มิลลิซีเวิร์ต" (Millisievert : mSv) วัดกันปีต่อปีว่าใน 1 ปีสัมผัสรังสีกี่ mSv รังสีไม่สะสมหรือตกค้างในร่างกายเหมือนสารประกอบไดออกซินที่ก่อมะเร็งจากเตาเผาขยะแบบ Incinerator การสัมผัสรังสีจึงคล้ายกับการถูกแสงแดด ผ่านแล้วผ่านเลย ปริมาณรังสี (mSv) ที่คนเราสัมผัสในธรรมชาติต่อปีประมาณ 2.2 mSv แต่จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 0.002-0.005 mSv จึงไม่มีใครห่วงรังสีปกติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นห่วงก็แต่รังสีที่ไม่ปกติจากอุบัติเหตุที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอีกระยะหนึ่ง แล้วจะ GO หรือจะ NO คงต้องฟังเสียงจากเจ้าของประเทศ

 

กระทรวงพลังงานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คงต้องทำงานอย่างหนักกันอีกต่อไป เพื่อให้เมืองไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน และอยู่ดีมีสุขกันทั่วหน้า... คำถามก็คือวันนี้คุณช่วยประหยัดพลังงานแล้วหรือยัง?